วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

ความเห็นประเด็นทางกฎหมาย ของนักกฎหมายนิรนาม


น่าสนใจที่มีเอกสารสรุปความเอาเรื่องข้อขัดแย้งที่ดูจะคลุมเรือมากว่า ๓๐ ปีแล้ว ในเรื่องเกี่ยวกับวัดร้างที่ดอนสวรรค์และที่ดินของวัดร้างแห่งนี้ ควรมีฝ่ายใดรับดำเนินการกรรมสิทธิ์นี้ระหว่างกรมการศาสนาที่ต่อมาเป็นสำนักพุทธศาสนาและ การเป็นพื้นที่ดินสาธารณะที่พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน

มีข้อคิดเห็นในประเด็นทางกฎหมายที่ดูจะซับซ้อนนี้ออกมาฉบับหนึ่ง น่าสนใจที่จะนำมาบอกเล่าต่อ  โดยสรุปคือ

๑. วัดดอนสวรรค์ไม่มีสถานะเป็นวัดตามกฎหมายเพราะยังไม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ประชาชนได้ทราบทั่วกัน ปรากฏหลักฐานเพียงแต่ขอเสนอจัดตั้งเป็นวัดเท่านั้น เมื่อไม่ได้เป็นวัดตามกฎหมายจึงไม่มีสถานะเป็นวัดร้างไปด้วย จึงไม่สามารถตกเป็นทรัพย์สินทางศาสนสมบัติแต่อย่างใด
(แม้จะมีหลักฐานประกาศในราชกิจฯ ฉบับ ๒๔๗๒ เรื่องการสร้างโบสถ์ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ประกาศถึงการสร้างเป็นวัดที่มีการพระราชทานวิสุงคามสีมาหรือเป็นสำนักสงฆ์ที่ไม่มีวิสุงคามสีมา นอกเหนือจากการบริจาคสร้างโบสถ์ ข้อนี้ก็ยังถือว่าเป็นความคลุมเครือว่า นี่คือประกาศของกระทรวงธรรมการว่าวัดดอนสวรรค์เป็นวัดหรือไม่ เพราะสามารถเป็นและไม่เป็นได้ / ในวงเล็บเป็นความเห็นของผู้เรียบเรียง วลัยลักษณ์ ทรงศิริ)

"วิสุงคามสีมา"  หมายถึง เขตที่พระราชทานแก่สงฆ์ เพื่อใช้เป็นที่สร้างพระอุโบสถ หรือเขตที่พระสงฆ์ใช้ประกอบสังฆกรรม

พระมหากษัตริย์ผู้เป็นองค์ศาสนูปถัมภก มีพระราชประสงค์อำนวยความสะดวกแก่สงฆ์ จึงทรงออกประกาศพระราชทานที่ตั้งวัดเป็นวิสุงคามสีมา การยกที่ดินเป็นเขตวิสุงคามสีมาถือว่าได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตั้งวัด แต่การขอพระบรมราชานุญาตนั้น กำหนดเฉพาะบริเวณที่ตั้งอุโบสถเท่านั้น
ปัจจุบันการขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาให้แก่วัด ดำเนินการตามกฎกระทรวง ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 คือ วัดที่สมควรได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ต้องปรากฏว่าได้สร้างขึ้น หรือได้ปฏิสังขรณ์ เป็นหลักฐานถาวร และมีพระภิกษุอยู่ประจำไม่น้อยกว่า 5 รูป ติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี แต่ระยะเวลา 5 ปีมิได้ใช้บังคับแก่วัดที่สร้างอุโบสถเสร็จเรียบร้อยแล้ว และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นสมควรขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา

๒. วัดดอนสวรรค์มีพระสงฆ์พำนักอยู่ชั่วคราว  ไม่มีสถานะเป็นวัดร้างเมื่อจะกำหนดให้เป็นวัดต้องผ่านหลักเกณฑ์การจัดตั้งวัดตามพรบ.คณะสงฆ์ ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม ๒๕๓๕ จะต้องผ่านการขอที่ดินทางราชการก่อนเพื่อสร้างวัด  แต่ไม่มีหลักฐานใดที่ทางราชการอนุญาตอย่างเป็นทางการ และพื้นที่วัดไม่เหมาะสมที่จะเป็นที่พำนักของพระภิกษุแต่อย่างใด และประกาศเมื่อ ๒๕๔๖ ที่ทบวงการเมืองใดต้องการใช้ที่ดินของรัฐ ต้องแจ้งความประสงค์ถอนสภาพที่ดินสาธารณประโยชน์เสียก่อน ซึ่งดอนสวรรค์อยู่ในพื้นที่หวงห้ามตามกฏหมาย จึงต้องประกาศถอนสภาพก่อนการกระทำการใดๆ

๓. วัดดอนสวรรค์นี้จึงไม่มีเอกสารสิทธิใดๆแสดงถึงการครอบครองที่จะทำให้กลายเป็นพื้นที่ธรณีสงฆ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย การปิดกั้นการใช้ที่ดินของพลเมืองจึงผิดกฎหมายทั้งแพ่งและอาญา

๔. แม้วัดดอนสวรรค์จะมีสถานะเป็นวัดร้างดังที่อ้างก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่ที่อ้างไว้ถึง ๘๕ ไร่ การขออกดฉนดนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น