วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555

"ข้อสังเกตจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกพร รักความสุข" ความเป็นจริงของ โฉนดที่ดินดอนสวรรค์ : เรื่องที่คนสกลนครต้องรู้

แม้จะเป็นบทความที่ยาวหน่อยแต่ก็ได้ประเด็นการแก้ต่างด้วยข้อกฎหมาย และโฟกัสในเรื่องสิทธิของการคัดค้านในฐานะเป็นสมบัติสาธารณะ [Common Property] ที่ควรจะให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการตัดสินใจดูแล

แม้ว่าจะมีกฎหมายรัฐธรรมนูญรองรับไว้แล้ว แต่การปฏิบัติจริงนั้นไม่เคยเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ การก้าวใหญ่ๆครั้งนี้ของคนสกลนครจะกลายเป็นบรรทัดฐานก้าวแรกๆ ของการเรียกร้องการดูแลสมบัติส่วนรวมในท้องถิ่นขนาดใหญ่ (ที่กำลังตกไปอยู่ส่วนตนอยู่ทั่วหัวระแหงทุกวันนี้) ให้ปรากฏต่อไป


ข้อความเบื้องต้น
เมื่อมีการประกาศของสำนักงานที่ดินจังหวัดสกลนคร ในวันที่ 6 สิงหาคม 2555 เรื่องแจกโฉนดที่ดินวัดดอนสวรรค์ (ร้าง) หน้าสำรวจ 20679 เลขที่ดิน 1 เนื้อที่ 85 ไร่ โดยกำหนดให้มีการคัดค้านการออกโฉนดที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วันนั้น ปรากฏว่า เป็นเรื่องสำคัญที่คนสกลนครไม่เคยทราบมาก่อน จนกระทั่ง “นายโกมุท ทีฆธนานนท์” นายกเทศมนตรีนครสกลนครได้ทราบเรื่องนี้จาก “นายสรอู๊ด อุปพงษ์” และ “นายวิบูลย์ แต้ศิริเวช” รองนายกเทศมนตรีนครสกลนคร จึงได้คัดค้านการออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ในนามของเทศบาลนครสกลนคร ในวันที่ 4 กันยายน 2555 ซึ่งถือว่า เป็นช่วงเวลาที่ใกล้ระยะเวลาสุดท้ายตามประกาศของสำนักงานที่ดินจังหวัดสกลนคร จากนั้น เมื่อข่าวเรื่องนี้เป็นที่แพร่หลายได้ส่งผลให้คนสกลนครต่างมีความรู้สึกไม่พอใจ มีความเห็นในทำนองเดียวกันว่า ไม่เห็นด้วยกับการขอออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์และต้องการคัดค้านการออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ มีการรวมตัวกันแสดงประชามติของคนสกลนครด้วยการลงชื่อคัดค้านการออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ มีการตั้งวงเสวนาเพื่อเรียนรู้ร่วมกันในการประเด็นการออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ ตลอดจนรวมตัวกันเพื่อชุมนุมเรียกร้องให้มีการถอนคำขอออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ และในที่สุด เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2555 จังหวัดสกลนครได้มอบให้สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสกลนครทำหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสกลนครขอระงับการยื่นออกโฉนดที่ดินวัดดอนสวรรค์ (ร้าง) จังหวัดสกลนคร
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เป็นเรื่องของบ้านเมืองสกลนครที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่คนสกลนครเคยพูดคุยกันมา ไม่เคยมีเรื่องใดที่มีน้ำหนักมากเท่ากับเรื่องของ “ดอนสวรรค์” คนสกลนครต่างมีความรู้สึกไม่พอใจ และไม่เห็นด้วยกับการขอออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ครั้งนี้
ในอดีตที่ผ่านมานั้น คนสกลนครอาจมีความเห็นที่แตกต่างกัน ถกเถียงกันในบางเรื่อง ดั่งเช่น เรื่องของการเขียนคำว่า “หนองหาน” หรือ “หนองหาร” จะเลือกเขียนอย่างไรจึงจะถูกต้อง แต่เมื่อหาข้อสรุปกันไม่ได้ จึงปล่อยให้เป็นปัญหาของคนในภาคราชการ จะเขียนอย่างไรเราก็จำใจยอมรับ แต่เหตุการณ์ขอออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ในครั้งนี้ กลับเป็นเรื่องของ “ราษฎร” ที่มีความเห็นแตกต่างกับ “ภาคราชการ” อย่างสิ้นเชิง เป็นเรื่องที่ภาคราชการจะต้องใส่ใจ จะทำเหมือนเมื่อครั้งที่เรามีปัญหาการเขียนคำว่า “หนองหาร” หรือ “หนองหาน” ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะการขอออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์เป็นเรื่องที่ “ราษฎร” คนสกลนครจะไม่ยอมให้ภาคราชการกระทำตามความเคยชินอีกต่อไป
คนสกลนครต่างมีความรู้สึกในการเป็นเจ้าของดอนสวรรค์ เคยใช้เป็นสถานที่ในการทำบุญสงกรานต์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ เป็นจุดแวะพักของชาวประมง เป็นศูนย์รวมอาหารการกินที่คนสกลนครได้ใช้เป็นแหล่งเก็บพืชผักไปทำอาหาร และเป็นวิถีชีวิตที่คนสกลนครมีความผูกพันกับดอนสวรรค์ตั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบัน เมื่อมีคนบางกลุ่มคิดครอบครองและต้องการมีกรรมสิทธิ์ในพื้นดิน “ดอนสวรรค์” ด้วยการออกโฉนดที่ดิน ตลอดจนมีการห้ามคนสกลนครเข้าไปเกี่ยวข้องกับดอนสวรรค์ ย่อมเป็นการท้าทายความรู้สึก ความเชื่อ และความผูกพันที่คนสกลนครมีต่อ “ดอนสวรรค์” ตลอดจนเป็นเรื่องที่สวนทางกับความเข้าใจที่คนสกลนครถือว่า “ดอนสวรรค์” เป็นพื้นดินที่บรรพบุรุษของคนสกลนครได้รักษาและมอบให้เป็นสมบัติที่ตกทอดจากรุ่นปู่ย่าตาทวดสู่คนรุ่นปัจจุบัน อันเป็นภาระที่คนรุ่นปัจจุบันจะต้องรักษาพื้นดินดอนสวรรค์ให้แก่คนรุ่นอนาคตต่อไป การออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์เพื่อการแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินของคนบางกลุ่มที่กระทำอยู่ในเวลานี้ ย่อมเป็นแรงกระตุ้นให้คนสกลนครเกิดความรู้สึกว่า ต้องสูญเสียสมบัติของบรรพบุรุษที่เป็นของทุกคน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่สำคัญของคนสกลนครในการรักษา “ดอนสวรรค์” ด้วยการรวมตัวกันคัดค้านการออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ เพื่อแสดงให้เห็นว่า คนสกลนครไม่เห็นด้วยกับการกระทำของคนบางกลุ่มที่ต้องการยึดพื้นดินดอนสวรรค์ หรือการมีปฏิกิริยาที่ไม่ยินยอมให้ภาคราชการดำเนินการออกโฉนดที่ดินของพื้นที่ดอนสวรรค์ ไม่ว่าจะเป็น “จังหวัดสกลนคร” หรือ “สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสกลนคร” และ “สำนักงานที่ดินจังหวัดสกลนคร” ที่ได้ดำเนินการเรื่องนี้ ด้วยวิธีการปกปิดและเร่งรีบในการออกโฉนดที่ดินพื้นที่ดอนสวรรค์อย่างผิดปกติ
การกระทำของคนบางกลุ่มที่ต้องการยึดพื้นดินดอนสวรรค์ และพฤติกรรมของภาคราชการที่ดำเนินการออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ด้วยวิธีการปกปิดและเร่งรีบดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดคำถามที่คาใจคนสกลนครว่า เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ใครเป็นผู้เกี่ยวข้องบ้าง ไม่ว่าจะเป็น “ตัวการ” คนสำคัญที่มีบทบาทหลัก หรือ เป็น “ผู้สนับสนุน” ให้เกิดเรื่องนี้ขึ้น และมีการตั้งคำถามที่ต้องการทราบว่า จะยุติเรื่องนี้ได้อย่างไรโดยที่ยังสามารถรักษาพื้นที่ “ดอนสวรรค์” ให้เป็นสมบัติของคนสกลนครทุกคนดั่งที่เคยเป็นมา คนสกลนครอยากรู้ความจริงของเรื่องที่เกิดขึ้น ได้เรียกร้องให้มีการตอบคำถามต่างๆ เหล่านี้ แต่ยังไม่เคยมีการชี้แจงเป็นการตอบคำถามต่างๆ ที่สงสัยหรือการอธิบายใดๆ จาก “นางเกศรินทร์ ภูปาง” ผู้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ ไม่มีคำชี้แจงจากผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร, ไม่มีคำตอบของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสกลนคร ไม่มีคำอธิบายใดๆ ของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสกลนคร หรือผู้หนึ่งผู้ใดที่เข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ คงมีแต่เพียงการแถลงข่าวของ “พระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส” ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของวัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2555 โดยกล่าวว่า
วัดดอนสวรรค์ตั้งอยู่บนเกาะดอนสวรรค์ ในบึงหนองหาร จังหวัดสกลนคร เป็นวัดร้างและยังคงที่วัดที่มีที่ธรณีสงฆ์ คณะสงฆ์จังหวัดสกลนครและทางราชการกำลังปรับปรุงให้เป็นวัดที่มีพระภิกษุจำพรรษาอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของคณะสงฆ์ เพื่อแก้ไขปัญหาวัดร้าง ตามนโยบายของทางการคณะสงฆ์ส่วนกลางและทางราชการ วัดพระธรรมกายขอชี้แจงว่า เรื่องการยกฐานะจากวัดร้างเป็นวัดที่มีพระภิกษุจำพรรษาอยู่นั้น เป็นสิทธิของทางการคณะสงฆ์ จังหวัดสกลนครเอง และกรณีความคิดเห็นเรื่องการจัดการพื้นที่ที่แตกต่างกันไปนั้น เป็นเรื่องผลประโยชน์ของบรรพชิตและคฤหัสถ์ในจังหวัดสกลนครเอง ไม่เกี่ยวกับวัดพระธรรมกายแต่อย่างใด”
จากการแถลงข่าวของประชาสัมพันธ์ของวัดธรรมกายเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ได้อธิบายว่า เป็นเรื่องของคณะสงฆ์จังหวัดสกลนครในการยกวัดร้างให้เป็นวัดที่มีพระภิกษุจำพรรษาไม่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย และต่อมา ได้มีการแถลงข่าวโดยเลขานุการของคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 โดย “นางสาวลีลาวดี วัชโรบล” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย แถลงว่า
ตามที่นายกเทศมนตรีนครสกลนคร ทำหนังสือคัดค้านการออกโฉนดที่ดินให้กับวัดดอนสวรรค์ ซึ่งเดิมเคยเป็นวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษา ตั้งแต่ พ..2472 แต่ต่อมาไม่มีพระภิกษุสงฆ์จำวัด จึงถูกขึ้นทะเบียนเป็นวัดร้าง และต่อมาเมื่อมีพระภิกษุสงฆ์ กลับไปจำวัดอีกครั้ง จึงได้มีการแจ้งแก้ไขการขึ้นทะเบียนเป็นวัดร้าง และกลับคืนสู่สภาพวัดที่มีพระจำศีล ตามปกติ แต่เนื่องจากโฉนดที่ดินของวัดดอนสวรรค์ ที่หายสาบสูญไป จึงแจ้งไปยังกรมที่ดิน เพื่อขอออกโฉนดใหม่ แต่ถูกคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่า เทศบาลสกลนคร ได้พิจารณาแล้วไม่เห็นด้วยกับการออกโฉนดที่ดินดังกล่าว เพราะเดิมที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่รกร้างว่างเปล่าสาธารณประโยชน์ ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน  แต่จากการพิจารณาของ อนุกรรมาธิการ เห็นว่า มีหลักฐานที่ชัดเจน และยืนยันได้ว่า มีการจดทะเบียนวัด โดยกระทรวงธรรมการ ตั้งแต่ พ.. 2472 และมีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 .. 2472 พร้อมทั้งออกโฉนดที่ดิน ดังนั้น เมื่อที่ดินใดที่ตกเป็นของวัด จึงถือเป็นที่ธรณีสงฆ์ จะให้เห็นเป็นอื่นไม่ได้ จึงยืนยันว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ของวัด เป็นธรณีสงฆ์ ไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ ตามที่นายกเทศมนตรีนครสกลนครกล่าวอ้าง”
จะเห็นได้ว่า สาระสำคัญของการแถลงข่าวทั้งในส่วนของ “นางสาวลีลาวดี วัชโรบล” เลขานุการของคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร และในการชี้แจง “พระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส” ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของวัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี เพื่อชี้แจงเรื่องการออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์นั้น เป็นการสร้างข้อมูลเพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจว่า การออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีการใช้ประโยชน์ในพื้นดินดอนสวรรค์เฉพาะในเรื่องของวัดดอนสวรรค์เท่านั้น หากจะถือว่าเป็นการตอบคำถามที่คาใจคนสกลนครเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ ย่อมจะต้องมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่างๆ ที่มีอยู่ให้ชัดเจนเสียก่อน ไม่ควรด่วนสรุปข้อมูลง่ายๆ อย่างที่มีการแถลงข่าว เพราะคนสกลนครได้ทักท้วงสาระของข้อมูลที่มีการแถลงข่าวดังกล่าวในหลายประเด็น อาทิเช่น มีการใช้พื้นที่ดอนสวรรค์เป็นที่พักสงฆ์ชั่วคราวในการปลีกวิเวก ไม่เคยมีวัดดอนสวรรค์, มีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดอนสวรรค์เพื่อการอนุรักษ์พันธุ์พืชต่างๆ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ, ดอนสวรรค์เป็นทรัพยากรธรรมชาติสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหนองหาร, มีการดูแลหนองหารโดยใช้พื้นที่ดอนสวรรค์เป็นสถานที่ปฏิบัติงานของสถานีประมงจังหวัดสกลนคร, มีแผนพัฒนาจังหวัดสกลนครในด้านการท่องเที่ยวเชิงเชิงอนุรักษ์อย่างต่อเนื่องตลอดมา เป็นต้น
ส่วนข้อมูลที่อ้างถึงการใช้พื้นที่ดอนสวรรค์ในการจำวัดของพระภิกษุที่เป็นอยู่ในเวลานี้นั้น เป็นเรื่องที่คนสกลนครต่างยืนยันความเป็นจริงได้ว่า ในขณะนี้วัดพระธรรมกายได้นำพระภิกษุเข้าไปครอบครองพื้นที่ดอนสวรรค์ อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการนิมนต์พระบางรูปที่อยู่มาก่อนให้ออกจากพื้นที่ดอนสวรรค์ ดังปรากฏจากรายงานของคณะทำงานของจังหวัดสกลนครในปีพ.ศ. 2546 ที่ใช้ชื่อว่า “คณะกรรมการตรวจสอบและจัดระเบียบเกี่ยวกับวัดบนเกาะดอนสวรรค์” ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาของการปลูกสร้างโบสถ์และสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่มีลักษณะไม่ใช่การใช้พื้นที่ดอนสวรรค์เป็นที่พักสงฆ์ชั่วคราวในการปลีกวิเวก คณะกรรมการได้เดินทางไปตรวจสอบที่ดอนสวรรค์และแจ้งให้ “พระสมนึก อาจารจิตโต” ไปพบเจ้าคณะอำเภอเมืองสกลนคร เพื่อรับทราบแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการก่อสร้างโบสถ์, หอพระพรหม ในพื้นที่ดอนสวรรค์ แต่เรื่องได้จบลงโดยการออกจากพื้นที่ดอนสวรรค์ ทุกอย่างจึงกลับสู่สภาพเดิมที่คนสกลนครและหน่วยงานภาครัฐต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดอนสวรรค์ได้ตามปกติ อาทิเช่น การที่จังหวัดสกลนครได้เสนอให้ดอนสวรรค์เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไป ตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นอกจากนี้ จังหวัดสกลนครได้จัดทำโครงการต่างๆ ในการพัฒนาหนองหารและพื้นที่ดอนสวรรค์อย่างต่อเนื่อง เป็นต้น แต่เมื่อวัดพระธรรมกายได้นำพระภิกษุจำนวนมากเข้าไปจำวัดอยู่บนพื้นที่ดอนสวรรค์ และมีการยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2555 จึงเป็นปัญหาใหม่ที่แตกต่างจากลักษณะของปัญหาในอดีต ซึ่งเดิมเป็นเพียงปัญหาจากการปลีกวิเวกของพระภิกษุด้วยการก่อสร้างต่างๆ ที่ไม่ถูกต้องและมีความไม่เหมาะสม ในขณะที่การยื่นขอออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์เป็นเรื่องใหญ่ที่อ้างถึงความเป็นวัดในอดีตเพื่อครอบครองพื้นที่ดอนสวรรค์ทั้งหมด โดยแสดงว่า เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์บนพื้นที่ดอนสวรรค์ ซึ่งตามประมวลกฎหมายที่ดินได้กำหนดให้โฉนดที่ดินเป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน จึงอาจแปลความได้ว่า การยื่นขอออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ในครั้งนี้ เป็นเรื่องของความต้องการแสดงกรรมสิทธิ์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งบนพื้นที่ดอนสวรรค์
การแสดงกรรมสิทธิ์บนพื้นดินดอนสวรรค์ด้วยการขอออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ เป็นเรื่องที่กระตุ้นให้คนสกลนครแสวงหาความจริงในแง่มุมต่างๆ ซึ่งบทความนี้มีความตั้งใจในการค้นคว้าเพื่อพิสูจน์ความจริงที่คนสกลนครควรรู้ และต้องการตอบคำถามต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการยื่นขอออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ อันเป็นเรื่องที่ค้างคาใจคนสกลนครและเป็นการ “ทำความจริงให้เป็นความจริง” โดยผู้เขียนใคร่ขอพิจารณาปรากฏการณ์ของการออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ในครั้งนี้เฉพาะที่เกี่ยวข้องในสาระสำคัญที่มีการอ้างถึง กล่าวคือ
ประการแรก ดอนสวรรค์เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
ประการที่สอง การขอออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
และประการที่สาม คนสกลนครมีสิทธิคัดค้านการออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์
การกำหนดขอบเขตของการพิจารณาปรากฏการณ์ของการออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ในสามประการนี้ เป็นมุมมองที่ผู้เขียนได้ค้นคว้าจากข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญและเกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้ประโยชน์พื้นที่ดอนสวรรค์ เพื่อตีความปรากฏการณ์ของการออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ตามลักษณะของความเป็นจริงที่ปรากฏ ดังจะได้นำเสนอต่อไป
ดอนสวรรค์เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
ดอนสวรรค์เป็นชื่อที่ใช้เรียกพื้นดินที่โผล่พ้นน้ำกลางหนองหาร เช่นเดียวกับพื้นที่ดอนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในบริเวณหนองหาร ได้แก่ ดอนงิ้ว ดอนหัน ดอนพลาญ ดอนหวาย ดอนขาม ดอนลังกา ดอนสะคราญ ดอนอ่าง ดอนโพธิ์สามต้น ดอนแซง เป็นต้น ซึ่งเดิมมีการระบุเนื้อที่ดินของดอนสวรรค์ว่ามีพื้นที่ประมาณ 100 ไร่เศษ ถือว่าดอนสวรรค์เป็นดอนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยสภาพทั่วไปนั้น ดอนสวรรค์มีน้ำล้อมรอบตลอดทั้งปีจึงมีพันธุ์ไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีทั้งไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เช่น ไม้ยางนา ซึ่งเป็นไม้ที่เด่นในพื้นที่ดอนสวรรค์, ไม้สะแก, ข่อย, รัง, มะเดื่อ, จามจุรี เป็นต้น เป็นเขตป่าไม้พื้นเมืองหรือไม้หายากของท้องถิ่นสกลนคร ดอนสวรรค์จึงเป็นพื้นที่สำคัญของจังหวัดสกลนครที่มีความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งคนสกลนครได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งอาหารจากเขตป่าไม้พื้นเมือง เป็นแหล่งทำการประมงรอบพื้นที่ดอนสวรรค์ เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและการสืบสานประเพณีวัฒนธรรม เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจทางธรรมชาติที่มีความงดงามยิ่ง จนกระทั่งเป็นวิถีชีวิตของคนสกลนครที่ผูกพันดอนสวรรค์ตั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบัน
ในการขอออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ จะต้องพิจารณาสภาพโดยทั่วไปของดอนสวรรค์ที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความเป็นมาของ “หนองหาร” เพราะดอนสวรรค์เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของหนองหาร ซึ่งเป็นแหล่งน้ำจืดธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีการใช้เพื่อประโยชน์ของคนสกลนครในการเก็บกักน้ำเพื่อการบริโภคอุปโภค เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชผักต่างๆ การเพาะพันธุ์ปลาชนิดต่างๆ การประกอบอาชีพประมง ดังนั้น หนองหารจึงเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่ประชาชนชาวสกลนครใช้ร่วมกัน จึงมีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตามมาตรา 1304 (2) ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองประเทศในปีพ.ศ. 2475 ได้มีการกำหนดสถานะทางกฎหมายของสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้มีความชัดเจน โดยการออกกฎหมายการหวงห้ามที่ดินตามกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติ มีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478” เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารในการกำหนดเขตที่ดินที่ต้องการหวงห้ามอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยการออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดเขตหวงห้าม ต่อมาในปีพ.ศ. 2484 ฝ่ายบริหารได้อาศัยกฎหมายฉบับนี้ในการกำหนดเขตพื้นที่หนองหารให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยการออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดเขตหวงห้าม ดังปรากฏตาม “พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร พ.ศ. 2484” มีสาระสำคัญเกี่ยวกับหนองหารในมาตรา 4 โดยกำหนดหวงห้ามพื้นที่บริเวณ “หนองหาร” ตามที่ปรากฏในเขตแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา เป็นเขตหวงห้ามเพื่อประโยชน์ในการบำรุงพันธุ์สัตว์น้ำ ดังนั้น หนองหารและดอนสวรรค์ซึ่งอยู่ในเขตแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่มีการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจน
ต่อมาเมื่อมีการยกเลิกกฎหมาย “พระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478” โดยประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน มีการกำหนดเรื่องของเขตที่ดินที่ต้องการหวงห้ามอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไว้ในมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 โดยระบุให้ที่ดินที่สงวนหวงห้ามอันเป็น สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามกฎหมายที่ถูกยกเลิกนี้ ยังคงเป็นที่หวงห้ามต่อไป ในเรื่องนี้จึงมีความหมายว่า เขตพื้นที่ของหนองหารและดอนสวรรค์ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่หวงห้ามต่อไป และเมื่อมีการกำหนดแนวทางสำหรับการกำหนดเขตที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในปีพ.ศ. 2515 กฎหมายตามมาตรา 8 ตรี ของประมวลกฎหมายที่ดิน ได้กำหนดให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจในการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเพื่อแสดงแนวเขตที่ดินของทางราชการ จากนั้น จึงมีการเสนอขอรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงของเขตพื้นที่หนองหารโดยกรมประมงและอำเภอเมืองสกลนคร เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2535 และมีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแสดงเขตของที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2540 ครอบคลุมเขตพื้นที่หนองหารทั้งหมด โดยแปลงแรกเป็นหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ 0623 ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร มีเนื้อที่ 76,317 ไร่ 2 งาน ซึ่งดอนสวรรค์เป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงฉบับนี้ และแปลงที่ 2 เป็นหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ 0624 ตำบลท่าแร่,เชียงเครือ อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร มีเนื้อที่ 698 ไร่ 3 งาน
จะเห็นได้ว่า พื้นที่ดอนสวรรค์มีฐานะเป็นที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันและมีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ 0623 ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เพื่อแสดงสถานะทางกฎหมายที่ชัดเจนแล้ว ซึ่งมีผลของการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ 3 ประการ กล่าวคือ
ประการแรก การห้ามโอนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน กฎหมายให้การคุ้มครองสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันไว้อย่างชัดเจน โดยมาตรา 1305 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดห้ามโอนทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา ซึ่งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 8 วรรคสองและมาตรา 10 ของประมวลกฎหมายที่ดิน กล่าวถึง ที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันไม่อาจโอนให้แก่เอกชนได้ เว้นแต่ กรณีที่เอกชนได้จัดหาที่ดินแปลงใหม่มาให้พลเมืองใช้ร่วมกันแทนแล้ว ย่อมจะออกพระราชบัญญัติโอนที่ดินให้เอกชนเป็นการแลกเปลี่ยนได้ หรือเป็นกรณีที่มีการถอนสภาพที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันแล้ว
ประการที่สอง ห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1306 ได้กำหนดห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งเป็นการป้องกันมิให้สาธารณสมบัติของแผ่นดินตกเป็นของเอกชนโดยการครอบครอง ไม่ว่าจะใช้ระยะเวลานานเพียงใดก็ตาม
และ ประการที่สาม ห้ามยึดทรัพย์ของแผ่นดิน กฎหมายให้การคุ้มครองสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ต้องอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีซึ่งมีการดำเนินคดีกับลูกหนี้ตามคำพิพากษาของศาล เพื่อมิให้ถูกรบกวนในการใช้ประโยชน์ร่วมกันของประชาชน
ผลของการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทั้งสามประการดังกล่าวมานี้ เป็นหลักการสำคัญที่กฎหมายให้ความคุ้มครองสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันไว้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องส่งผลให้ “ดอนสวรรค์” ได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษจากการห้ามโอน ห้ามยึดทรัพย์และห้ามเอกชนยกอายุความขึ้นต่อสู้ ดังนั้น การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครได้ลงนามในหนังสือเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 เพื่อขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสกลนครดำเนินการรังวัดแนวเขตที่ดินดอนสวรรค์ เพื่อออกเป็นโฉนดที่ดินถวายคณะสงฆ์เนื่องในปีฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ และในวันที่ 22 พฤษภาคม 2555 รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครได้แจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสกลนครดำเนินการออกเป็นโฉนดที่ดินวัดดอนสวรรค์ (ร้าง) โดยมอบให้ “นางเกศรินทร์ ภูปาง” เป็นผู้ดำเนินการแทนในการยื่นเรื่องออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ ย่อมเป็นการกระทำด้วยประการใดๆ ที่ส่งผลต่อเขตของที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ซึ่งได้มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ 0623 ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนครแล้ว เพราะการขอออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ดังกล่าว ย่อมเป็นกำหนดเขตแสดงกรรมสิทธิ์ของวัดดอนสวรรค์ตามโฉนดที่ดินฉบับใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงด้วยการลดเขตพื้นที่ส่วนหนึ่งของหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงลงตามขนาดของพื้นที่ดอนสวรรค์ จึงเป็นการเปลี่ยนสภาพส่วนหนึ่งของสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ไปยังวัดดอนสวรรค์ซึ่งยังไม่มีฐานะใดๆ ในทางกฎหมาย เป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับการห้ามโอนสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปเป็นของผู้หนึ่งผู้ใดและไม่เข้าข้อยกเว้นที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
การยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ในครั้งนี้ ได้ใช้ทะเบียนวัดดอนสวรรค์ (ร้าง) ซึ่งมีการขอขึ้นทะเบียนตามมติที่ประชุมคณะทำงานเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินศาสนสมบัติกลางและวัดร้างในส่วนภูมิภาค ครั้งที่ 8/2547 เมื่อวันที่ 8-12 พฤศจิกายน 2547 และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ส่งทะเบียนวัดดอนสวรรค์ (ร้าง) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 นับว่า ทะเบียนวัดดอนสวรรค์ (ร้าง) เป็นเอกสารสำคัญที่เป็นปฐมเหตุแห่งการใช้อ้างในการขอออกโฉนดที่ดิน เมื่อตรวจสอบข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในเรื่องนี้พบว่า มีการอ้างถึงราชกิจจานุเบกษา วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2472 หน้า 1656-1657 เป็นการประกาศทั่วไปของกระทรวงธรรมการเรื่อง “สร้างโบสถ์วัดดอนสวรรค์ จังหวัดสกลนคร” มีเนื้อหากล่าวถึงการบริจาคเงินในการสร้างอุโบสถขึ้นที่วัดดอนสวรรค์ และประกาศ ณ วันที่ 7 สิงหาคม 2472 และมีการอ้างถึงหนังสือของเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2472 ถึงมหาเสวกเอก เจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ รายงานการสร้างโบสถ์วัดดอนสวรรค์ จังหวัดสกลนคร โดยแนบสำเนาแจ้งความราชกิจจานุเบกษามาพร้อมหนังสือฉบับนี้
การที่คณะทำงานเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินศาสนสมบัติกลางและวัดร้างในส่วนภูมิภาค ได้อาศัยข้อมูลดังกล่าวนี้เพื่อแสดงว่ามีวัดดอนสวรรค์ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2472 และนำมาขอขึ้นทะเบียนวัดร้างในปีพ.ศ. 2547 นั้น เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาจากราชกิจจานุเบกษา วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2472 หน้า 1656-1657 และหนังสือของเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2472 ถึงมหาเสวกเอก เจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ ซึ่งข้อความที่ปรากฏตามเอกสารที่อ้างมานั้น มีการกล่าวถึงชื่อ “วัดดอนสวรรค์” ในเอกสารแล้วนำมาสรุปว่า มีวัดดอนสวรรค์ตั้งแต่ปีพ.. 2472 ได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณากฎหมายในขณะนั้นว่า ได้ยอมรับสถานะของวัดในพระพุทธศาสนาอย่างไร ซึ่งปรากฏตาม “พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.. 121” เป็นกฎหมายสมัยรัชกาลที่ 5 ออกในปีพ.. 2446 มีบทบัญญัติในมาตรา 5 กำหนดแบ่งวัดออกเป็น 3 แบบ กล่าวคือ แบบแรก “พระอารามหลวง” เป็นวัดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง แบบที่สอง “อารามราษฎร์” เป็นวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และแบบที่สาม “ที่สำนักสงฆ์” เป็นวัดที่ยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา สำหรับการสร้างวัดขึ้นใหม่มีการกำหนดไว้ในมาตรา 9 ซึ่งจะต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน ซึ่งวัดในสมัยนั้นไม่สามารถจับจองที่ดินเหมือนบุคคลธรรมดา วัดจะได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยวิธีการเดียวจากการที่มีผู้อุทิศถวายเท่านั้น จึงต้องมีการขออนุญาตผ่านทางราชการเพื่อเสนอขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน ดังนั้น การพิจารณาว่ามีวัดดอนสวรรค์หรือไม่ จะต้องอาศัยหลักจากพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.. 121 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น
จากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัดดอนสวรรค์นั้น มีเพียงราชกิจจานุเบกษาและหนังสือของเสนาบดีกระทรวงธรรมการเกี่ยวกับการสร้างอุโบสถ สถานะทางกฎหมายของวัดดอนสวรรค์จะต้องเป็นวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา หรือได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการสร้างวัด ซึ่งจะปรากฏในประกาศของราชกิจจานุเบกษา ดังจะเห็นได้จากการพระราชทานที่ดินเป็นที่วิสุงคามสีมาให้แก่วัดต่างๆ ในปีพ.ศ. 2427 ซึ่งปรากฏตัวอย่างของวัดราษฎร์ศรัทธา แขวงเมืองอ่างทอง, วัดท่าหาด แขวงเมืองไชยนาท วัดบ้านหนองยาง แขวงเมืองอุไทยธานี เป็นต้น โดยมีการประกาศของราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 1 ปีพ.ศ. 2427 เราสามารถค้นคว้าข้อมูลย้อนหลังในเรื่องการประกาศการพระราชทานที่ดินเป็นที่วิสุงคามสีมาให้แก่วัด ได้จากฐานข้อมูลของหน่วยงานราชกิจจานุเบกษา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จากการศึกษาในเรื่องนี้กลับไม่ปรากฏว่า มีข้อมูลใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่า วัดดอนสวรรค์เป็นวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา หรือได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการสร้างวัด เมื่อมีการกล่าวอ้างราชกิจจานุเบกษาในปีพ.. 2472 ย่อมต้องพิสูจน์ถึงการรับรองสถานะของวัดตาม “พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.. 121” ได้ อีกทั้งเอกสารที่กล่าวถึงการสร้างโบสถ์ไม่อาจตีความไปไกลถึงการเป็นวัดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เมื่อไม่มีหลักฐานใดๆ ที่แสดงถึงความเป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมายในเวลานั้น “วัดดอนสวรรค์” จึงไม่มีสภาพเป็นวัด ดังจะเห็นได้จากการอธิบายหลักกฎหมายในเรื่องนี้ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 855/2524 กล่าวคือ

ราษฎรพร้อมใจสร้างวัดโจทก์กันขึ้นเองในที่พิพาทเมื่อพ.. 2482 โดยไม่ปรากฏว่า ได้มีการขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สร้าง จึงเป็นการสร้างวัดขึ้นใหม่ ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.. 121 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น ไม่มีสภาพเป็นวัดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แม้ต่อมาจะมีชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนวัดสำนักสงฆ์ ก็ไม่มีผลทำให้กลับกลายสภาพเป็นวัดที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้ ที่พิพาทซึ่งอ้างว่ามีผู้ยกให้เป็นที่สร้างวัด จึงไม่ใช่สมบัติของวัด อันจะถือว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์ วัดโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกไปจากที่พิพาท”

ตัวอย่างที่ปรากฏตามคำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นได้ว่า “วัด” ที่มีผู้สร้างขึ้นจะต้องจะต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สร้างวัดก่อน ซึ่งวัดในสมัยนั้นไม่สามารถจับจองที่ดินเหมือนบุคคลธรรมดา เมื่อมีผู้อุทิศถวายที่ดินเพื่อสร้างวัดจึงสามารถขออนุญาตผ่านทางราชการเพื่อเสนอขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สร้างวัดก่อนตามมาตรา 9 ของ “พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121” การกล่าวถึงเอกสารว่ามีการสร้างอุโบสถของวัดดอนสวรรค์ จังหวัดสกลนคร จึงไม่ใช่เอกสารที่พิสูจน์ถึงความเป็นวัด และเมื่อวัดดอนสวรรค์ไม่มีฐานะเป็นวัด จึงไม่มี “วัดดอนสวรรค์ (ร้าง)” ดังที่นำเสนอในการประชุมคณะทำงานเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินศาสนสมบัติกลางและวัดร้างในส่วนภูมิภาค
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากหนังสือของผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครที่ส่งถึงอธิบดีกรมการศาสนา เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2532 เพื่อขอให้ขึ้นทะเบียนวัดดอนสวรรค์ (ร้าง) ได้ยอมรับว่า ในการขอขึ้นทะเบียนวัดดอนสวรรค์ (ร้าง) เป็นกรณีที่ไม่มีทะเบียนวัดร้างชื่อวัดดอนสวรรค์ (ร้าง) อยู่ในทะเบียนของจังหวัดสกลนครและกรมการศาสนา แต่ค้นหาหลักฐานจากหนังสือพงศาวดาร หนังสือจดหมายเหตุหรือหนังสือปูมเมืองสกลนคร ซึ่งมีการเสนอความเห็นว่า “หากมีข้อความบางตอนกล่าวถึงวัดดอนสวรรค์ (ร้าง) ก็อาจใช้เป็นหลักฐานได้” การดำเนินการขึ้นทะเบียนวัดดอนสวรรค์ (ร้าง) ดังกล่าวนี้ เป็นบทบาทของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการให้มีวัดเกิดขึ้นที่ดอนสวรรค์ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ ซึ่งถ้าเป็นวัดภายหลังมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.. 2484 จะต้องมีหลักฐานการประกาศตั้งวัดของกระทรวงศึกษา ธิการ หรือในกรณีของการตั้งวัดขึ้นตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.. 2505 ย่อมจะต้องการประกาศตั้งวัดของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังจะเห็นได้จากการได้รับอนุญาตให้สร้าง “วัดดอนสวรรค์” ณ บ้านดอนสวรรค์ หมู่ที่ 8 ตำบลวานรนิวาส อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนที่ 1 ง วันที่ 4 มกราคม 2543 ซึ่งไม่ใช่กรณีของ “วัดดอนสวรรค์ (ร้าง)” ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่ขาดเอกสารและพยานหลักฐานที่กฎหมายต้องการ และมีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลอื่นๆ ที่ชี้ให้เห็นถึงความเป็นวัดที่มีอยู่จริง ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องทราบว่า วัดตั้งขึ้นเมื่อใด ใครเป็นเจ้าอาวาส มีจำนวนพระภิกษุสามเณรเท่าใด มีหลักฐานที่ดินในการขอตั้งวัดหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่อ้างมาในการขึ้นทะเบียน “วัดดอนสวรรค์ (ร้าง)” จึงไม่มีน้ำหนัก
เมื่อมีการยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ของ “วัดดอนสวรรค์ (ร้าง)” ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสกลนคร ย่อมเป็นการแสดงว่า “วัดดอนสวรรค์ (ร้าง)” ต้องการมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดอนสวรรค์ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันไว้อย่างชัดเจน โดยมาตรา 1304 (2) ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นเรื่องของการอ้างความเป็นวัดเพื่อมีสิทธิที่เหนือกว่า “สาธารณสมบัติของแผ่นดิน” อันถือว่า เป็นการบุกรุกที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน และการยื่นขอออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์โดยไม่มีสภาพของวัดตามที่กฎหมายกำหนด ต้องการเปลี่ยนแปลงเขตที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง และต้องการแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินสาธารณประโยชน์ ส่งผลให้เป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ถือว่า “เป็นโมฆะ” ตามมาตรา 150 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มีกรณีตัวอย่างของการบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์โดยวัด ซึ่งกรมที่ดินส่งเรื่องให้มีการวินิจฉัยร้องทุกข์ ได้แก่ “กรณีวัดหลักร้อยบุกรุกที่สาธารณประโยชน์” คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ (คณะที่ 6) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2543 ว่า อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา ได้พยายามหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องการบุกรุกที่สาธารณะประโยชน์ตลอดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2537 แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เสร็จสิ้น เนื่องจากผู้บุกรุกเป็นวัดซึ่งมีชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธา หากดำเนินการโดยเด็ดขาด อาจเกิดปัญหามวลชนได้ จึงมีมติเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการให้กรมการศาสนากำชับมิให้วัดบุกรุก ครอบครอง หรือก่อสร้างอาคารในที่สาธารณะประโยชน์โดยเด็ดขาด หากพบว่า มีการก่อสร้างรุกล้ำที่สาธารณประโยชน์ ก็ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป กรณีดังกล่าวนี้ ช่วยให้เห็นภาพว่า วัดไม่สามารถบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ได้ วัดไม่มีอำนาจเหนือสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันได้
นอกจากนี้แล้ว กระทรวงมหาดไทยได้ออกระเบียบว่าด้วยการดูแลรักษาคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. 2553 ในข้อ 6 กำหนดให้นายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ในกรณีมีข้อพิพาทหรือคดีเกี่ยวกับที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการระงับข้อพิพาทหรือร้องทุกข์กล่าวโทษภายในสามสิบวัน นับแต่รู้เหตุแห่งข้อพิพาทหรือคดีนั้น จะเห็นว่า ระเบียบของกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้มีการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน โดยไม่มีข้อยกเว้นใดสำหรับการบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์อันเกิดจากวัด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำของวัดในการแสดงสิทธิในที่ดิน เช่น กรมที่ดิน, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น จะต้องมีหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน
ดังนั้น การขอออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ของวัดดอนสวรรค์ (ร้าง) จึงถือว่า เป็นการแสดงสิทธิที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการบุกรุกที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตก “เป็นโมฆะ” ภาคราชการจะอ้างว่าได้กระทำถูกต้องตามกฎหมายไม่ได้ คนสกลนครมีความชอบธรรมในการทักท้วงการบุกรุกพื้นที่ดอนสวรรค์เพื่อขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันได้ และไม่สามารถโอนส่วนหนึ่งส่วนใดของที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันให้แก่วัดหรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดได้

การขอออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การได้มาซึ่งที่ดินของวัดมีการกำหนดหลักการสำคัญไว้ตามมาตรา 84 ของประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และให้ได้มาไม่เกิน 50 ไร่ ซึ่งกรมที่ดินได้ออกระเบียบของกรมที่ดินว่าด้วยการได้มาซึ่งที่ดินของวัดวาอาราม ตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2552 กำหนดแนวทางในการออกโฉนดที่ดิน กล่าวคือ
“ข้อ 5 เมื่อวัดมีความประสงค์ขอได้มาซึ่งที่ดิน โดยการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน ให้วัดและผู้ขออีกฝ่ายหนึ่งยื่นคำขอตามแบบ ท.ด.1 สำหรับที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน หรือแบบ ท.ด.1 ก สำหรับที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่พร้อมหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน หลักฐานเอกสารของวัด ตามข้อ 8 และหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องของคู่กรณี....
ข้อ 6 การขอได้มาซึ่งที่ดินของวัด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบก่อนว่า ที่ดินที่วัดขอได้มานั้น เป็นที่ดินที่วัดได้มาก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินมีผลใช้บังคับ ซึ่งไม่ต้องขออนุญาตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน อีก หรือเป็นที่ดินที่วัดได้มาภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินมีผลใช้บังคับแล้วที่ต้องดำเนินการขออนุญาตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินก่อน หากเป็นที่ดินที่วัดได้มาภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินมีผลใช้บังคับแล้ว ให้ดำเนินการขอได้มาซึ่งที่ดินของวัดต่อไป
ข้อ 8 เอกสารหลักฐานของวัดที่จะต้องยื่นประกอบคำขอเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบดังนี้
  1. หลักฐานที่แสดงการเป็นวัดที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย
  2. สำเนาหนังสือพระราชทานวิสุงคามสีมา (ถ้ามี)
  3. สำเนาตราตั้งเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันหรือผู้รักษาการแทน
  4. สำเนาหนังสือสุทธิของเจ้าอาวาสหรือผู้รักษาการแทน หนังสือเลื่อนสมณศักดิ์หรือหลักฐานการแต่งตั้งฐานานุกรม
  5. สำเนาหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแปลงที่ขออนุญาตและแปลงที่วัดถือครองอยู่....
ข้อ 9 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบหลักฐานของวัด และผู้ขออีกฝ่ายหนึ่ง (ถ้ามี) และสอบสวนประกอบหลักฐาน โดยให้สอบสวนแล้วบันทึกถ้อยคำผู้แทนวัดให้ได้ความว่า วัดตั้งขึ้นเมื่อใด ชื่อเจ้าอาวาส จำนวนพระภิกษุสามเณร เหตุผลความจำเป็นในการขอได้มาซึ่งที่ดินแปลงใหม่ ระบุการใช้ประโยชน์ในที่ดิน วัดมีที่ดินเดิมหรือไม่ มีหลักฐานอย่างไร ใช้เป็นที่วัดหรือที่ธรณีสงฆ์เท่าใด ที่ดินที่มีอยู่แล้ว ทำประโยชน์เต็มทั้งแปลงหรือไม่ และวัดจะรับประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างไร โดยให้วัดจัดทำบัญชีที่ดินเดิมพร้อมสำเนาเอกสารสิทธิ ประกอบการพิจารณา...
ข้อ 12 กรณีวัดขอได้มาซึ่งที่ดิน เมื่อรวมกับที่ดินที่มีอยู่เดิมแล้วเกินกว่า 50 ไร่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนให้ได้ความโดยละเอียดชัดเจนว่า มีเหตุผลและความจำเป็นอย่างไรที่ต้องการขอได้มาซึ่งที่ดินไว้เกินกว่าจำนวนที่กฎหมายกำหนดสิทธิไว้ และถ้าเป็นกรณีวัดขออนุญาตให้ได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่ธรณีสงฆ์ ให้สอบสวนว่า ที่ธรณีสงฆ์เดิมใช้ประโยชน์อะไร มีรายได้จากการนั้นมากน้อยเพียงใด และวัดมีรายได้ทางอื่นอีกบ้างหรือไม่ ที่ธรณีสงฆ์ที่จะได้มาใหม่ วัดจะใช้ทำประโยชน์และมีรายได้จากการนั้นมากน้อยเพียงใด ถ้าจะก่อสร้างให้แสดงแผนผังรูปแผนที่ประกอบด้วย นอกจากเหตุผลเรื่องศรัทธาของผู้บริจาคแล้ว วัดมีเหตุผลและความจำเป็นอื่นใดอีกหรือไม่...
ข้อ 20 กรณีวัดขอได้มาซึ่งที่ดิน หากรายใดที่พิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่ควรอนุญาตให้วัดได้มาซึ่งที่ดิน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเรื่องไปยังกรมที่ดิน เพื่อขอคำสั่งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย”
จะเห็นได้ว่า การขอได้มาซึ่งที่ดินของนิติบุคคลเพื่อการศาสนาตามมาตรา 84 ของประมวลกฎหมายที่ดิน มีเงื่อนไขที่จะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และให้ได้มาไม่เกิน 50 ไร่ ซึ่งมี “ระเบียบของกรมที่ดินว่าด้วยการได้มาซึ่งที่ดินของวัดวาอาราม ตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2552” เป็นการกำหนดแนวทางในการปฏิบัติสำหรับการขอได้มาซึ่งที่ดินของนิติบุคคลเพื่อการศาสนา ดังนั้น “วัด” ในฐานะที่เป็นนิติบุคคลเพื่อการศาสนาจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของกรมที่ดินดังกล่าว ซึ่งในกรณีการขอออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ย่อมต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายและระเบียบของกรมที่ดินเช่นกัน
แต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในการยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินวัดดอนสวรรค์ (ร้าง) โดยนางเกศรินทร์ ภูปาง เป็นเรื่องที่มีการแสวงหาช่องว่างของประมวลกฎหมายที่ดิน มีวิธีการหาทางออกและป้องกันปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการขอออกโฉนดที่ดิน ดังปรากฏตามคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดิน วันที่ 23 พฤษภาคม 2555 ซึ่งใช้แบบ น..1 ข ระบุการยื่นขอออกโฉนดที่ดินโดยไม่มีหลักฐาน แต่อาศัยหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนวัดดอนสวรรค์ (ร้าง) ตามหนังสือของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ลงวันที่ 9 มกราคม 2555 โดยแจ้งว่า ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดอนสวรรค์ตั้งแต่ วันที่ 19 เมษายน 2548 ความเป็นจริงที่ปรากฏจากคำขอออกโฉนดที่ดินวัดดอนสวรรค์ (ร้าง) จะขัดกับ “ระเบียบของกรมที่ดินว่าด้วยการได้มาซึ่งที่ดินของวัดวาอาราม ตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.. 2552” ในหลายประการ เช่น วัดดอนสวรรค์ (ร้าง) ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า วัดดอนสวรรค์ (ร้าง) ไม่มีสถานะทางกฎหมายว่าเป็นวัด, มีการขอออกโฉนดที่ดินเกินกว่า 50 ไร่ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, ไม่สามารถปฏิบัติตามระเบียบของกรมที่ดินในข้อต่างๆ ได้ เป็นต้น หากมีการทักท้วงในเรื่องนี้ จะมีการอธิบายว่า การยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินวัดดอนสวรรค์ (ร้าง) โดยนางเกศรินทร์ ภูปาง เป็นการปฏิบัติตามมาตรา 59 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่ใช่กรณีของการยื่นคำขอการได้มาซึ่งที่ดินของวัดตามมาตรา 84 ของประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และให้ได้มาไม่เกิน 50 ไร่ ซึ่งปรากฏจากการใช้แบบ น..1 ข ระบุการยื่นขอออกโฉนดที่ดินโดยไม่มีหลักฐานและแจ้งว่า ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดอนสวรรค์ตั้งแต่ วันที่ 19 เมษายน 2548 เป็นต้นมา ดังนั้น จึงไม่ต้องสนใจว่า หลักการของกฎหมายที่ต้องการตรวจสอบการได้มาซึ่งที่ดินของวัดตามมาตรา 84 ของประมวลกฎหมายที่ดิน และ “ระเบียบของกรมที่ดินว่าด้วยการได้มาซึ่งที่ดินของวัดวาอาราม ตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.. 2552” ระบุไว้อย่างไร เป็นการยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินตามวิธีการของคนธรรมดาที่ขอออกโฉนดที่ดินเฉพาะราย ซึ่งใช้เงื่อนไขเพียงการแจ้งว่าผู้ขอมีสิทธิครอบครองในที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย และมีแนวปฏิบัติของกรมที่ดินที่ถือว่าเป็นการออกโฉนดที่ดินตกค้าง เพราะไม่อยู่ในบริเวณที่มีการเดินสำรวจเพื่อการออกโฉนดที่ดินทั้งตำบล
เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงจากการประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับสภาพปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาวัดร้าง ศาสนสมบัติกลาง และที่ธรณีสงฆ์ในจังหวัดสกลนคร และการติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาที่ดินวัดร้าง กรณีศึกษาวัดดอนสวรรค์ จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2555 ภายหลังจากที่มีการยื่นคำขอออกโฉนดดอนสวรรค์แล้ว ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร, ผู้แทนคณะสงฆ์ของจังหวัดสกลนคร และผู้แทนของจังหวัดสกลนคร ณ วัดแจ้งแสงอรุณ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร มีข้อมูลสำคัญจาก รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ได้ชี้แจงว่า “กรณีวัดดอนสวรรค์ อยู่ในขั้นตอนการรังวัดออกโฉนดที่ดิน ซึ่งจังหวัดสกลนครได้กำหนดให้สำนักงานที่ดินจังหวัดสกลนคร ได้ทำการรังวัดในวันที่ 19 มิถุนายน 2555 และประกาศแนวเขต 30 วัน หากไม่มีบุคคลคัดค้าน ก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร) เพื่อขออนุมัติและออกหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่วัดดอนสวรรค์ และถวายให้แก่คณะสงฆ์จังหวัดสกลนคร ส่วนคณะสงฆ์จะนำไปบริหารจัดการอย่างไร ก็คงจะเป็นไปตามมติความเห็นชอบของคณะสงฆ์” ความเป็นจริงที่ได้จากการชี้แจงครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า มีความตั้งใจในการเพิกถอนสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตามมาตรา 1304 (2) ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังจะเห็นได้จากการเตรียมนำเรื่องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร) ซึ่งเป็นเรื่องของมาตรการในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ เพื่อช่วยเหลือราษฎรผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์ด้วยการถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน อันเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย การแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ พ.ศ. 2545 โดยมีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร) และคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร. จังหวัด) เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการ
ดังนั้น ในการยื่นขอออกโฉนดที่ดินของวัดดอนสวรรค์ (ร้าง) โดยไม่มีหลักฐานที่ดิน แต่อาศัยหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนวัดดอนสวรรค์ (ร้าง) ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ลงวันที่ 9 มกราคม 2555 และอ้างว่าได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดอนสวรรค์ตั้งแต่ วันที่ 19 เมษายน 2548 จึงเข้าเงื่อนไขในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ การที่วัดดอนสวรรค์ (ร้าง) บุกรุกพื้นที่ดอนสวรรค์ในแง่มุมของประเด็นด้านกฎหมาย จึงทำให้มีทางออกสำหรับการที่เจ้าพนักงานที่ดินจะดำเนินการออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ได้ ทั้งๆ ที่ ดอนสวรรค์เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของเขตที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแสดงเขตของที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ 0623 ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

อย่างไรก็ตาม หากมีการคัดค้านการออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ให้แก่วัดดอนสวรรค์ (ร้าง) ย่อมเป็นเรื่องที่พนักงานที่ดินต้องปฏิบัติกับวัดดอนสวรรค์ (ร้าง) เช่นเดียวกับการยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินของคนธรรมดาทั่วไป แต่เหตุการณ์ในครั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า เป็นเรื่องของ “การออกโฉนดที่ดินแบบพิเศษ” ที่เป็นความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังจะเห็นว่า มีการยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินวันที่ 23 พฤษภาคม 2555 มีการติดตามผลการทำงานในวันที่ 13 มิถุนายน 2555 มีการรังวัดในวันที่ 19 มิถุนายน 2555 จนกระทั่งสามารถติดประกาศเรื่องการแจกโฉนดที่ดินในวันที่ 6 สิงหาคม 2555 นับว่าเป็นความรวดเร็วของการทำงานภาครัฐในการออกโฉนดที่ดินแบบลัดขั้นตอนและเร่งรีบ แตกต่างจากคนธรรมดาที่ขอออกโฉนดที่ดินแล้วรอคอยเป็นแรมปี คนที่ไม่เห็นด้วยกับการโอนที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปเป็นของวัดดอนสวรรค์ (ร้าง) ย่อมมีความเข้าใจได้ว่า เป็นการแจกโฉนดที่ดินด้วยกระบวนการพิเศษ ผิดปกติ และแตกต่างจากมาตรฐานของการออกโฉนดที่ดินเฉพาะรายตามมาตรา 59 ของประมวลกฎหมายที่ดิน
เมื่อการคัดค้านการออกโฉนดที่ดินโดยเทศบาลเมืองสกลนครและคนสกลนครที่ไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ กลับไม่มีคำชี้แจงใดๆ เพื่อทำความเข้าใจถึงเหตุผลและเจตนารมณ์ที่แท้จริง คนสกลนครเป็นชาวพุทธที่มีศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้จากคำขวัญของจังหวัดสกลนครที่ว่า

“พระธาตุเชิงชุมคู่บ้าน พระตำหนักภูพานคู่เมือง งามลือเลื่องหนองหาร
แลตระการปราสาทผึ้ง สวยสุดซึ้งสาวภูไท ถิ่นมั่นในพุทธธรรม”

เป็นข้อความที่สะท้อนถึงการยึดมั่นในหลักคำสอนของศาสนาพุทธ ซึ่งคนสกลนครมีหน้าที่ส่งเสริมให้วัดต่างๆ มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่พระธรรมคำสอน สำหรับการคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ครั้งนี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากการปกปิดและเร่งรีบในการออกโฉนดที่ดิน ตลอดจนการเพิกถอนพื้นที่ดอนสวรรค์ที่เป็นสมบัติของคนสกลนครในการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ประกอบกับการที่วัดพระธรรมกายได้นำภิกษุจำนวนหนึ่งไปครอบครองพื้นที่ดอนสวรรค์เสมือนหนึ่งเป็นวัดพระธรรมกาย จึงเป็นชนวนของปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น
จากการพิจารณาข้อมูลทั้งหมดในด้านข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จะเห็นได้ในระดับหนึ่งว่า มีความร่วมมือของภาคราชการฝ่ายต่างๆ ในการออกโฉนดที่ดินให้แก่วัดดอนสวรรค์ (ร้าง) แต่เลือกใช้วิธีการพิเศษจากทะเบียนวัดร้าง เพื่อไม่ต้องปฏิบัติตามหลักกฎหมายในการได้มาซึ่งที่ดินของวัดตามมาตรา 84 ของประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และให้ได้มาไม่เกิน 50 ไร่ และระเบียบของกรมที่ดินว่าด้วยการได้มาซึ่งที่ดินของวัดวาอาราม ตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2552 โดยการเลี่ยงไปยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะรายตามมาตรา 59 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และใช้การเพิกถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน โดยอาศัยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ พ.ศ. 2545 การดำเนินการเช่นนี้ เพื่อมิให้มีการคัดค้านจากคนสกลนครใช่หรือไม่ ต้องการได้โฉนดที่ดินโดยเร็วใช่หรือไม่ และถ้าต้องพื้นที่ดอนสวรรค์โดยไม่ต้องมีปัญหาใดๆ จากการคัดค้านของคนสกลนครควรทำอย่างไร คำถามที่กล่าวมานี้ เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีคำตอบหรือคำชี้แจงใด แต่ความจริงย่อมเป็นความจริง เพราะถ้ามีการยื่นขอใช้พื้นที่ดอนสวรรค์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 และมาตรา 9/1 ซึ่งเปิดโอกาสให้บุคคลเข้าครอบครองที่ดินของรัฐได้ โดยจะต้องได้รับอนุญาตและต้องเสียค่าตอบแทนเป็นรายปีให้แก่เทศบาล หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่กำหนด แต่ปรากฏว่า มีความพยายามที่จะเลี่ยงกฎหมายในเรื่องนี้
ผู้เขียนได้ตรวจสอบความจริงในเรื่องแล้วพบว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2553 มีผู้ยื่นหนังสือถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขออนุญาตใช้พื้นที่บริเวณดอนสวรรค์ หนองหารจำนวน 80 ไร่ โดยนางสาวสมพร ต่อตระกูล ในนามประธานมูลนิธิศึกษาธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มีเหตุผลในการขอใช้พื้นที่ดอนสวรรค์ในการเป็นศูนย์การเรียนรู้และอบรมพระพุทธศาสนา และขอใช้เป็นระยะเวลา 30 ปี นับว่าเป็นข้อเท็จจริงใหม่ที่ไม่เคยมีใครเปิดเผยมาก่อน ต่อมาในเดือนตุลาคม 2553 กรมประมงได้เสนอความเห็นไปยังปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเสนอความเห็นว่า

ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.. 2457 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 122 กำหนดให้นายอำเภอมีหน้าที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงมีอำนาจยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ที่ดินดังกล่าวโดยได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัด และปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดินและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษา คุ้มครองป้องกัน และยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ที่ดินดังกล่าว จึงเป็นของนายอำเภอเมืองสกลนครร่วมกับเทศบาลเมืองสกลนคร”

จากนั้น ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แจ้งให้นางสาวสมพร ต่อตระกูล ในนามประธานมูลนิธิศึกษาธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมดำเนินการขอใช้ที่ดินดอนสวรรค์จากนายอำเภอเมืองสกลนคร เมื่อความปรากฏเช่นนี้ เราย่อมมีความสงสัยว่า นางสาวสมพร ต่อตระกูล และมูลนิธิศึกษาธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมมีความเป็นมาอย่างไร จึงสนใจขออนุญาตใช้พื้นที่บริเวณดอนสวรรค์ หนองหารจำนวน 80 ไร่ เป็นระยะเวลา 30 ปี ซึ่งเมื่อตรวจสอบข้อมูลจากหนังสือต่างๆ ของวัดพระธรรมกายและจากเว๊บไซต์ของมูลนิธิศึกษาธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม พบข้อมูลว่า นางสาวสมพร ต่อตระกูล และมูลนิธิศึกษาธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ดำเนินการเพื่อวัดพระธรรมกาย และมูลนิธิแห่งนี้เคยมีปัญหาในการขอเช่าที่ป่าตั้งศูนย์ปฏิบัติธรรมที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปีพ.ศ. 2542 โดยมูลนิธินี้ได้เข้าไปเช่าที่ป่า จากกรมป่าไม้ โดยตั้งเป็นสำนักปฏิบัติธรรมสนแก้ววนาราม ที่ตำบลบ่อหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และมีปัญหาการต่อต้านของชาวบ้านในการเข้ามาใช้ประโยชน์ที่ดิน ดังนั้น จึงมีการเปลี่ยนวิธีการจากขออนุญาตใช้พื้นที่บริเวณดอนสวรรค์ หนองหารจำนวน 80 ไร่ เป็นระยะเวลา 30 ปี มาเป็นการใช้ทะเบียนวัดร้างเพื่อขออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ ตามความตั้งใจที่วัดพระธรรมกายดำเนินการมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2553
ความเป็นจริงที่ปรากฏเช่นนี้ จึงสอดคล้องกับการกระทำของคนบางกลุ่มที่ต้องการยึดพื้นดินดอนสวรรค์ และพฤติกรรมของภาคราชการที่ดำเนินการออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ด้วยวิธีการปกปิดและเร่งรีบ หากคนสกลนครไม่ร่วมกันคัดค้านกระบวนการขอออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ ภาคราชการย่อมสามารถดำเนินการจนแล้วเสร็จ และแจกโฉนดที่ดินแสดงกรรมสิทธิ์บนพื้นที่ดอนสวรรค์ให้แก่วัดดอนสวรรค์ (ร้าง) ซึ่งขณะนี้มีภิกษุจากวัดพระธรรมกายครอบครองอยู่ได้ เมื่อผู้เขียนสอบถามข้าราชการกรมที่ดินในประเด็นนี้ มีผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งได้ยืนยันว่า เมื่อมีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงอย่างถูกต้อง กรมที่ดินจะมีความเห็นว่า จะขอออกโฉนดที่ดินไม่ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไม่ได้เลย และถ้าหากมีความต้องการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ต้องเป็นไปตามมาตรา 9 ของประมวลกฎหมายที่ดิน กล่าวคือ การเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ใช้ประโยชน์จากที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และมีการเสียค่าตอบแทนเป็นรายปีตามมาตรา 9/1 ดังนั้น กระบวนการออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ที่ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2555 จึงเป็นกระบวนการที่ผิดปกติ มีข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนผิดพลาด จงใจหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามหลักการสำคัญของประมวลกฎหมายที่ดิน อีกทั้งขัดต่อบทบัญญัติสำคัญของกฎหมาย จึงเป็นการขอออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คนสกลนครมีสิทธิคัดค้านการออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์
การรวมตัวกันของคนสกลนครในการคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่จะต้องกระทำ เพราะพฤติกรรมที่ผิดปกติต่างๆ ดังที่ได้เสนอมาแล้วนั้น เป็นการท้าทายความรู้สึกและความเข้าใจของคนสกลนครที่มีต่อหนองหารและดอนสวรรค์ เราย่อมมีสิทธิในการมีส่วนร่วมในการปกป้องและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งดอนสวรรค์มีพืชที่หลากหลาย ป่าไม้ที่งดงาม เป็นทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นสมบัติของส่วนรวม การจัดการพื้นที่ดอนสวรรค์ จะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ดังปรากฏตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 66 กล่าวคือ

“บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการการบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน”

เราจึงมีความชอบธรรมในการคัดค้านการขออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ในครั้งนี้ เพราะทุกคนเป็นเจ้าของดอนสวรรค์ ไม่ควรมีใครหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่อ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ดอนสวรรค์ การอ้างว่า การขอออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นเพียงภาพลวงตาที่เอาฝ่ามือปิดตาเพื่อไม่เห็นแสงอาทิตย์และบอกว่า มีแต่ความมืด บัดนี้ คนสกลนครจะไม่ยอมให้มาปิดหู ปิดตา และปิดปาก อีกต่อไป เราจะต้องแสวงหาความเป็นจริงร่วมกัน เพื่อไม่ให้มีการเอาดอนสวรรค์ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้หนึ่งผู้ใดด้วยวิธีการที่ไม่ชอบธรรม ตลอดจนการอ้าง “ธรรมะ” บังหน้า จนกระทั่งเป็นความผิดเพี้ยนของสังคมสกลนครในเวลานี้ สิ่งที่เคยเป็นคำสอนของหลวงปู่มั่น หลวงปู่ฝั้น และเกจิอาจารย์สำคัญของคนสกลนครต่างอบรมพวกเราชาวสกลนครให้ “ลดกิเลส” ความอยากได้พื้นที่ดอนสวรรค์ไว้ในครอบครองจึงเป็นกิเลสที่เห็นได้ชัด นับว่า มีปัญหาของ “ธรรมะ-กลาย” เกิดขึ้นที่สกลนครแล้ว และการออกโฉนดที่ดินโดยวิธีพิเศษตามที่ได้อธิบายมา ได้สร้างการสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นกับคนสกลนครในเรื่องวัดร้าง หากคนสกลนครเมินเฉยต่อปัญหาการออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ ไม่ว่าจะเชื่ออะไรก็ตาม เราอาจจะต้องเปลี่ยนคำขวัญของคนสกลนครใหม่ เป็นดังนี้
พระธาตุเชิงชุมคู่บ้าน ธรรมะ-กลาย คู่เมือง
งามลือเลื่อง “ดอนสวรรค์” อัศจรรย์ “โฉนดที่ดินพิเศษ”

***********************************






หมายเหตุ บทความนี้ เขียนขึ้นภายในระยะเวลาอันจำกัด เพื่อประโยชน์ในการชี้แจงของเครือข่ายคัดค้านการออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ ผู้เขียนยังไม่ได้แสดงการอ้างอิงตามหลักวิชาการ เมื่อมีการพิมพ์เผยแพร่ในอนาคตจะนำเสนอแหล่งที่มาของข้อมูลต่อไป

ข่าว_ ชาวสกลฯ จี้รัฐถอนขอออกโฉนดเกาะดอนสวรรค์



http://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000114689 
ม็อบชาวสกลฯ จี้รัฐถอนขอออกโฉนดเกาะดอนสวรรค์-ลั่นพร้อมแฉไอ้โม่งหนุนธรรมกาย

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
18 กันยายน 2555 09:38 น.


สกลนคร-ชาวสกลนครนับหมื่นรวมพลังชุมนุมครั้งใหญ่ ค้านออกโฉนดที่ดินเกาะสวรรค์ให้วัดพระธรรมกาย ลั่นพร้อมแฉไอ้โม่งผู้อยู่เบื้องหลัง จี้หน่วยงานรัฐต้องถอนคำร้องออกโฉนด เตรียมขับไล่พระวัดธรรมกายออกจากเกาะดอนสวรรค์ สุดอัศจรรย์เกิดปรากฏการณ์เมฆก่อตัวเป็นพญานาค 2 ตน เชื่อเป็นนิมิตดีต่อการต่อสู้
       
       เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 55 เมื่อเวลา 18.30 น. ที่ลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 บริเวณศูนย์ราชการจังหวัดสกลนคร เขตเทศบาลนครสกลนคร อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร กลุ่มผู้ชุมนุมนับหมื่นคนออกมาชุมนุมคัดค้านออกโฉนดที่ดินเกาะสวรรค์ให้วัดพระธรรมกาย มีนายโกมุท ทีฆธนานนท์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครสกลนคร และนายชัยมงคล ไชยรบ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร นายชาญชัย งอยผาลา ส.อบจ.สกลนคร เขตอำเภอเต่างอย เปิดเวทีปราศรัยใหญ่คัดค้านการออกโฉนดที่ดินบนเกาะดอนสวรรค์ให้เป็นธรณีสงฆ์
       
       ทั้งนี้ มีประชาชนจากทั้ง 18 อำเภอ พร้อมด้วยตัวแทนหน่วยงานข้าราชการ นักศึกษา กว่าหมื่นคนร่วมชุมนุม พร้อมกับนำป้ายและสติกเกอร์ เสื้อยืด ผ้าโพกศีรษะ สกรีนข้อความคัดค้านการออกโฉนดที่ดินเกาะดอนสวรรค์ เช่น “ดอนสวรรค์ของพวกกู เอาคืนมา” “กลุ่มบุคคลปล้นดอนสวรรค์” “ดอนสววรค์ มรดกของกูเอาคืนมา” ฯลฯ
       
       นายโกมุท ทีฆธนานนท์ นายกเทศมนตรีเทสบาลนครสกลนคร หนึ่งในแกนนำผู้ชุมนุมคัดค้านการออกโฉนดที่ดินเกาะสวรรค์ กล่าวว่า ดอนสวรรค์เป็นมรดกของชาวสกลนคร ไม่ควรมีใครมาเป็นเจ้าของ จึงต้องคัดค้านอย่างเต็มที่ 
       
       ขณะเดียวกัน นายกู้ศักดิ์ ทับทิม กล่าวเสริมว่า ทราบตัวไอ้โม่งที่อยู่เบื้องหลัง การนำที่ดินของส่วนรวมและของแผ่นดินไปเป็นสมบัติส่วนตัวแล้ว และจะเปิดเผยต่อสาธารณชนในไม่ช้านี้ และขอให้ทางจังหวัดสกลนครและส่วนที่เกี่ยวข้องประกาศยกเลิกการออกโฉนดที่ดินเกาะดอนสวรรค์โดยเร็ว มิฉะนั้นกลุ่มชุมนุมจะปักหลักชุมนุม จนกว่าจะมีการประกาศยกเลิกการออกโฉนดอย่างเด็ดขาด และขับไล่พระวัดธรรมกายออกจากพื้นที่ให้หมด
       
       ทั้งนี้ ในระหว่างการเปิดเวทีปราศรัยอย่างเข้มข้นอยู่นั้น ได้เกิดปรากฏการณ์อัศจรรย์ มีกลุ่มเมฆก่อตัวคล้ายรูปร่างพญานาค 2 ตนลอยอยู่บนท้องฟ้า สามารถมองเห็นได้ชัดเจนจากบริเวณที่ชุมนุม ต่างรู้สึกตื่นตะลึงต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว 
       
       ประชาชนที่มาชุมนุมต่างเชื่อว่าเป็นนิมิตที่ดีของการต่อสู้ทวงคืนเกาะดอนสวรรค์ และเชื่อมั่นว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์รวมถึงพญานาคก็ไม่พอใจต่อความไม่ชอบมาพากลต่อการออกโฉนดที่ดินเกาะดอนสวรรค์ให้วัดธรรมกายดังกล่าว

วันชุมนุมใหญ่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๕


คุณ วิบูลย์ แต้ศิริเวชช์  รองนายกเทศมนตรีเมืองสกลนครสรุปไว้ใน FB ของกลุ่มรักษาดอนสวรรค์เพื่อไทสกลว่า  การชุมนุมใหญ่ครั้งนี้ความมุ่งหมายคือ

1. ไม่ต้องการให้ออกโฉนดวัดดอนสวรรค์
2. ให้ยกเลิกทะเบียนวัดดอนสวรรค์(ร้าง)
3. ให้บุคคลที่บุกรุกในขณะนี้ออกไปจากดอนสวรรค์

และได้สรุปจากการอภิปรายวันนี้ ตามหลักฐานที่แจกในการชุมนุมพบว่า
1. การขอออกโฉนด เป็นกระบวนการที่ผิดปกติ มีข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนผิดพลาด จงใจหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามหลักการสำคัญของประมวลกฏหมายที่ดิน อีกทั้งขัดต่อบทบัญญัติสำคัญของกฎหมาย จึงเป็นการออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
2. มูลนิธิศึกษาธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเครือข่ายวัดพระธรรมกายเคยขออนุญาตใช้พื้นที่บริเวณดอนสวรรค์ หนองหาร จำนวน 80 ไร่ เมื่อ 15 กันยายน 2553 จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ได้คำตอบว่า เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา122 กำหนดให้นายอำเภอมีหน้าที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดิน ดังนั้น จึงขอให้มูลนิธิฯ ดำเนินการขอใช้ที่ดินต่อนายอำเภอเมืองสกลนคร ผู้มีอำนาจยินยอมให้ใช้ที่ดินดังกล่าว





































http://77.nationchannel.com/home/298308/ 


ข่าวจากเนชั่นแชลแนล เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2555 ที่ลานพระบรมรูปรัชการที่ 5 เขตเทศบาลนครสกลนคร อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ประชาชนในเขตจังหวัดสกลนคร กว่า 1,000 คน ร่วมกันลงชื่อคัดค้าน และร่วมวงฟังปราศรัย การต่อต้านการออกโฉนดที่ดิน วัดบนเกาะดอนสวรรค์เป็นที่ ธรณีสงฆ์ หรือ วัดร้าง โดยเรียกร้องให้ ยกเรียกการยื่นข้อ แทนคำสั่งการระงับ ของจังหวัดสกลนคร ออกเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา พร้อมเรียกร้องให้คณะสงฆ์ของวัดธรรมกาย ออกมาจากพื้นที่บนเกาะดอนสวรรค์โดยด่วน

รายชื่อผู้ร่วมคัดค้านการออกโฉนดดอนสวรรค์ออนไลน์

จากเวบลิงค์ ลงชื่อคัดค้านร่วมกันรักษาดอนสวรรค์ เกาะที่มีระบบนิเวศทางธรรมชาติสมบูรณ์ที่สุดในหนองหาร และมีความหมายทางประวัติศาสตร์สังคม เพื่อเป็นสาธารณสมบัติของชาวสกลนคร โดยไม่ให้ตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของกลุ่มองค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น
https://docs.google.com/spreadsheet/viewform?formkey=dFJlcjJLNk5WQXhMSzBXbWU3Y2ZPV1E6MQ




และรายนามที่ร่วมลงชื่อ